ประเทศไทยมีสภาพอากาศที่แปรปรวนบ่อย โดยเฉพาะช่วงหน้าฝนที่บางพื้นที่ต้องเจอกับฝนตกหนักและพายุติดต่อกันหลายวัน จนทำให้น้ำท่วมรถยนต์ นอกจากนี้อาจมีกรณีการเกิดอุบัติเหตุที่อาจส่งผลให้รถจมน้ำได้อีกด้วย เชื่อว่าเจ้าของรถหลายคนคงมีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงเกิดคำถามว่าต้องทำอย่างไรเมื่อน้ำท่วมรถยนต์? และคำถามเกี่ยวกับประกันน้ำท่วมรถยนต์ว่าน้ำท่วมรถยนต์เคลมประกันได้มั้ย?
Pocket จะมาแนะนำว่าหากน้ำท่วมรถทำยังไงดี บริษัทประกันภัยจะให้ความคุ้มครอง หรือไม่ให้ความคุ้มครองในกรณีใดบ้าง

ประกันรถยนต์แบบไหนคุ้มครองในกรณีน้ำท่วม?
แผนประกันที่ให้ความคุ้มครองกรณีน้ำท่วม คือ ประกันรถยนต์ชั้น 1 โดยถือเป็นหนึ่งในรูปแบบความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ทั่วไปบริษัทฯ จะกำหนดวงเงินคุ้มครองตามทุนประกัน และทำการชดเชยค่าสินไหมทดแทน เมื่อรถยนต์หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของรถเสียหาย ซึ่งนอกจากจะคุ้มครองกรณีน้ำท่วมแล้ว ยังครอบคลุมไปถึงลมพายุ แผ่นดินไหว และภัยจากลูกเห็บอีกด้วย
ทั้งนี้ หากเจ้าของรถเลือกประกันชั้น 2+ หรือ ประกันชั้น 3+ ที่ไม่ได้ครอบคลุมกรณีน้ำท่วม บริษัทประกันภัยบางรายอาจเสนอความคุ้มครองเพิ่มเติม โดยที่ผู้เอาประกันต้องจ่ายค่าเบี้ยเพิ่มเติมด้วยเช่นกัน
ทำอย่างไรเมื่อน้ำท่วมรถยนต์?
ฤดูฝนอาจทำให้เกิดน้ำท่วมขังบนท้องถนน หรือน้ำหลากที่สร้างความเสียหายให้กับรถยนต์ และยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้รถจมน้ำได้ ซึ่งไม่ว่าจะกรณีไหนก็ตาม หากรถจมน้ำ สิ่งสำคัญที่เจ้าของรถควรทำคือ
- ระบุสาเหตุที่ทำให้น้ำท่วมรถ พร้อมกับตรวจสอบความเสียหาย เพื่อชี้แจงกับบริษัทประกันภัย
- พิจารณาถึงแผนประกันของตัวเองว่าคุ้มครองกรณีน้ำท่วมหรือไม่
- เตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้อง สำหรับยื่นเรื่องเคลมประกันกับบริษัทประกันภัย
น้ำท่วมรถยนต์ มีแบบไหนบ้าง?
เมื่อพูดถึงเหตุการณ์น้ำท่วมรถยนต์ แน่นอนว่ามีปัจจัยหลายรูปแบบ ซึ่งทางประกันน้ำท่วมรถยนต์จะพิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสาเหตุและความเสียหายต่อตัวรถ โดยลักษณะของน้ำท่วมรถยนต์ที่พบบ่อย ได้แก่
1. น้ำท่วมรถยนต์จากอุบัติเหตุ
เป็นอุบัติเหตุในลักษณะที่รถยนต์ออกนอกเส้นทางและตกลงไปในบ่อน้ำ คลอง หรือพื้นที่ลุ่มน้ำ เป็นเหตุการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้ขณะเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นเพราะตัวรถยนต์เองหรือจากผู้ขับขี่ โดยในกรณีนี้ ตัวรถยนต์มักได้รับความเสียหายทั้งคัน ขึ้นอยู่กับระดับความลึกที่รถจมลงไป
2. น้ำท่วมรถยนต์จากการเดินทาง
เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย คือ เกิดน้ำท่วมฉับพลันจากภัยพิบัติทางธรรมชาติในพื้นที่ที่ผู้ขับขี่กำลังเดินทางไป เช่น พายุฝนที่ก่อให้เกิดแอ่งน้ำบนถนน หรือน้ำป่าไหลหลาก เป็นต้น ซึ่งการจราจรอาจติดขัดจนไม่สามารถออกมาได้ หรือจำเป็นต้องขับรถผ่านเส้นถนนที่น้ำท่วม
3. น้ำท่วมรถยนต์ขณะจอดอยู่กับที่
สำหรับผู้ที่อาศัยและจอดรถอยู่ในบริเวณเสี่ยงอุทกภัยอย่างพื้นที่ลาดเชิงเขา พื้นที่ลุ่มต่ำ หรือแนวฟันหลอ ควรระวังเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลัน ซึ่งหากอพยพหรือขับรถออกจากพื้นที่ไม่ทัน ก็มีโอกาสสูงที่น้ำจะท่วมรถยนต์จนได้รับความเสียหาย
บริษัทประกันภัย พิจารณาให้ความคุ้มครองกรณีน้ำท่วมด้วยหลักเกณฑ์อะไร?
เชื่อว่าหลายคนคงทำประกันรถยนต์ภาคสมัครใจกันไว้อยู่แล้ว ทั้งนี้ถึงแผนประกันจะให้ความคุ้มครองในกรณีน้ำท่วม แต่ก็มีเงื่อนไขการพิจารณาว่าเจ้าของรถยนต์จะได้รับค่าสินไหมทดแทนหรือไม่ ดังนี้
- กรณีประกันรถยนต์คุ้มครอง: โดยปกติ บริษัทประกันจะพิจารณาให้การคุ้มครองในกรณีเหตุสุดวิสัยอย่าง น้ำท่วมรถจากเหตุการณ์ฝนตกหนักฉับพลัน ระดับน้ำค่อยๆ สูงขึ้นจนท่วมเส้นถนนที่เจ้าของรถกำลังเดินทางอยู่ หรือน้ำท่วมบริเวณที่จอดรถไว้ จนรถได้รับความเสียหาย
- กรณีประกันรถยนต์ไม่คุ้มครอง: บริษัทประกันสามารถสงวนสิทธิ์ไม่รับเคลมประกันในกรณีที่รถเสียหายจากความประมาทของผู้ขับขี่ เช่น ขับรถเข้าไปในพื้นที่น้ำท่วมโดยรู้ล่วงหน้าอยู่แล้ว มีป้ายเตือนล่วงหน้า หรือในกรณีที่เจ้าของตัดสินใจจอดรถทิ้งไว้ในพื้นที่เสี่ยง หลังได้รับการประกาศหรือแจ้งเตือนเหตุภัยพิบัติแล้ว
การชดเชยความเสียหายกรณีน้ำท่วมรถยนต์
ประกันน้ำท่วมรถยนต์จะพิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โดยดูจากความเสียหายที่เกิดกับรถยนต์เป็นหลัก ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 กรณี ได้แก่ “ความเสียหายอย่างสิ้นเชิง” และ “ความเสียหายแต่ไม่สิ้นเชิง” ดังนี้
1. ความเสียหายอย่างสิ้นเชิง
คือ กรณีที่บริษัทประกันภัยเข้ามาตรวจสอบรถยนต์ที่ถูกน้ำท่วม และพิจารณาแล้วว่า การซ่อมแซมรถยนต์นั้นเป็นไปได้ยากหรือไม่คุ้มค่าต่อการซ่อมแซม โดยจะคำนวณจากค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมว่าเกินกว่า 70% ของทุนประกัน ซึ่งในกรณีนี้ บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนวงเงินคุ้มครองที่ระบุในกรมธรรม์
2. ความเสียหายอย่างไม่สิ้นเชิง
คือ กรณีที่การซ่อมแซมรถยนต์หลังถูกน้ำท่วมนั้นสามารถทำได้ภายในวงเงินทุนประกัน หรือได้รับความเสียหายไม่มาก โดยบริษัทประกันภัยจะรับเคลมประกันค่าซ่อมตามจริง แต่ไม่เกินทุนประกันภัยที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ รวมถึงอุปกรณ์อื่นๆ ที่เจ้าของรถติดตั้งที่ไม่ใช่อุปกรณ์มาตรฐานของตัวรถ โดยต้องแจ้งให้บริษัทประกันทราบล่วงหน้าก่อนทำประกันรถยนต์
จะเห็นได้ว่าการเคลมประกันน้ำท่วมรถยนต์นั้น มีรายละเอียดและเงื่อนไขที่ต้องพิจารณาหลายอย่าง ตั้งแต่ประเภทของประกันที่ทำไว้ ลักษณะและระดับความรุนแรงของความเสียหาย ที่สำคัญ เจ้าของรถควรทำความเข้าใจเงื่อนไขความคุ้มครองในกรมธรรม์ให้ชัดเจน และทำตามขั้นตอนการเคลมของบริษัทประกันภัยอย่างถูกต้องครบถ้วน เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองสูงสุดตามสิทธิประโยชน์ที่ควรจะได้รับ
สำหรับใครที่ต้องการยกระดับความคุ้มครองรถยนต์ให้ครอบคลุมเหตุการณ์น้ำท่วมที่ไม่คาดฝัน สามารถเลือกซื้อประกันรถยนต์ชั้น 1 ที่จะช่วยคุ้มครองอย่างครอบคลุมจาก Pocket โดยสามารถเปรียบเทียบประกันรถยนต์และเช็กเบี้ยได้ง่ายๆ ที่ www.pocketbylmg.com หรือ โทร. 02-302-7788 เพื่อปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ พร้อมรับแผนประกันที่ตอบโจทย์ในราคาที่คุ้มค่า