จองทะเบียนรถเองได้ง่ายๆ แนะนำขั้นตอนและสิ่งที่ต้องเตรียม ปี 2568

นอกจากเรื่องสีมงคลและฤกษ์ออกรถแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่เจ้าของรถต่างให้ความสนใจไม่แพ้กัน ก็คือ เลขทะเทียนรถยนต์ ที่ต้องสื่อความหมายดีและส่งเสริมผู้ขับขี่ ซึ่งแน่นอนว่าหลายคนอาจมีตัวเลขในใจ ไม่ว่าจะเป็นเลขมงคลหรือเลขที่จดจำง่าย แต่อาจยังไม่รู้วิธีจองทะเบียนรถสวยมาครอบครอง โดยในปัจจุบัน มีช่องทางการจองทะเบียนรถออนไลน์ ซึ่งอำนวยความสะดวกและช่วยให้ประหยัดเวลามากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปจองทะเบียนรถกรมการขนส่งทางบกด้วยตนเอง 

แล้วขั้นตอนการจองทะเบียนรถมีอะไรบ้าง Pocket ได้รวบรวมเรื่องควรรู้และวิธีจองทะเบียนรถมาฝากกัน มาดูกันเลย

จองทะเบียนรถเองได้ง่ายๆ แนะนำขั้นตอนและสิ่งที่ต้องเตรียม ปี 2568

รถประเภทใดบ้างที่สามารถจองทะเบียนออนไลน์ได้

ก่อนเริ่มจองทะเบียนรถสวย ควรรู้ว่ามีรถประเภทใดที่สามารถจองเลขทะเบียนออนไลน์ได้ โดยกรมขนส่งทางบกได้จำแนกเอาไว้ทั้งหมด 4 ประเภท ดังนี้

1. รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน (รวมถึงรถเก๋งและรถกระบะ 4 ประตู)

2. รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน (เช่น รถตู้ และรถ MPV ขนาดใหญ่)

3. รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล (รถกระบะแค็บ รถกระบะ 2 ประตู)

4. รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล (ครอบคลุมทั้งจักรยานยนต์ทั่วไปและบิ๊กไบค์)

ขั้นตอนการจองทะเบียนรถออนไลน์แบบละเอียด

การจองทะเบียนรถกับกรมการขนส่งทางบกนั้นมีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก แต่ต้องดำเนินการตามลำดับขั้นตอน ดังนี้

1. เตรียมความพร้อมก่อนจอง

  • ตรวจสอบคุณสมบัติ - ต้องได้รับมอบรถจากศูนย์ หรือเจ้าของเดิม และมีข้อมูลรถที่ส่งไปยังกรมการขนส่งทางบกเรียบร้อยแล้ว หากกรมขนส่งทางบกไม่มีข้อมูลรถยนต์ จะไม่สามารถทำการจองเลขป้ายทะเบียนได้
  • เตรียมข้อมูลรถยนต์ - เจ้าของรถควรจดบันทึกเลขตัวถังรถ และยี่ห้อรถยนต์ตามที่ระบุในเล่มทะเบียนหรือใบจอง
  • เตรียมข้อมูลส่วนตัว - เลขบัตรประชาชน คำนำหน้าชื่อ ชื่อ-นามสกุล (หรือชื่อนิติบุคคล) และเบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้
  • ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ThaID - ในการจองทะเบียนรถออนไลน์ ผู้ใช้งานจำเป็นต้องล็อกอินเข้าสู่ระบบผ่าน ThaID จึงแนะนำให้ดาวน์โหลดแอป ThaID และลงทะเบียนล่วงหน้า เพื่อใช้สำหรับยืนยันตัวตนในขณะที่จองทะเบียนรถยนต์

2. เข้าสู่ระบบการจองทะเบียน

  • เข้าเว็บไซต์ - ไปที่ https://reserve.dlt.go.th/reserve ในช่วงเวลาที่ระบบเปิดให้บริการ (10.00 - 16.00 น.) ตามวันทำการที่กำหนดในตารางจองทะเบียน
  • ยืนยันตัวตน - หากเป็นการใช้งานครั้งแรก กดปุ่ม "จองหมายเลขทะเบียนรถ" ระบบจะแสดง QR Code ให้ใช้แอป ThaID สแกน เพื่อเข้าสู่ระบบ
  • หากเป็นการเข้าสู่แอป ThaID ครั้งแรก ให้สแกนบัตรประชาชนทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
  • สแกนใบหน้าตามขั้นตอนในแอป
  • ตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องและยืนยันตัวตน
  • ยอมรับหลักเกณฑ์ - เมื่อล็อกอินเสร็จ ระบบจะแสดงหลักเกณฑ์การจอง ให้อ่านอย่างละเอียดและกดปุ่ม "ยอมรับหลักเกณฑ์"

3. เลือกประเภทรถและกรอกข้อมูลรถ

  • เลือกประเภทรถ - ระบบจะแสดงตัวเลือกประเภทรถพร้อมหมวดเลขทะเบียนที่เปิดจอง ให้เลือกประเภทรถที่ตรงกับรถของคุณ
  • หมวดเลขทะเบียนจะแตกต่างกันในแต่ละวัน หากไม่พบหมวดที่ต้องการ ให้ตรวจสอบตารางจองในวันอื่น
  • เลือกประเภทการจอง - เลือกว่าจองในนาม "บุคคลธรรมดา" หรือ "นิติบุคคล/ชาวต่างชาติ"
  • กรอกข้อมูลส่วนตัว - กรอกข้อมูลให้ครบถ้วนและถูกต้องทุกช่อง โดยเฉพาะ
    • เลขบัตรประชาชน/ทะเบียนการค้า (กรอกติดกันโดยไม่มีขีดคั่น)
    • คำนำหน้าชื่อ ชื่อ-นามสกุล ให้ตรงตามบัตรประชาชน
    • เลขตัวถังรถ (เป็นภาษาอังกฤษตัวพิมพ์เล็กเท่านั้น)
    • ยี่ห้อรถยนต์ (เลือกให้ตรงกับเล่มทะเบียนหรือใบจอง)
    • เบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้

4. เลือกเลขทะเบียนและยืนยันการจอง

  • เลือกเลขทะเบียน - ระบุเลขทะเบียนที่ต้องการ (เลือกได้เฉพาะเลข 4 หลักเท่านั้น)
    • ต้องไม่เป็นเลขทะเบียนประมูล (เลขสวย) จำนวน 301 หมายเลขที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดไว้
    • หากระบบแจ้งว่าเป็นเลขประมูล ให้เลือกเลขอื่น
  • ตรวจสอบข้อมูล - ระบบจะแสดงข้อมูลทั้งหมดที่กรอก ให้ตรวจสอบความถูกต้องอย่างละเอียดอีกครั้ง
    • หากพบข้อผิดพลาด ให้กด "ยกเลิก" และกรอกใหม่
    • ข้อมูลที่ผิดพลาดจะทำให้การจองเป็นโมฆะ และต้องรอ 3 เดือนจึงจะจองใหม่ได้
  • ยืนยันการจอง - เมื่อแน่ใจว่าข้อมูลถูกต้องทั้งหมด ให้กด "ตกลง" เพื่อยืนยันการจอง

5. ตรวจสอบผลการจองทะเบียน

  • เข้าสู่หน้าตรวจสอบ - คลิกที่ปุ่ม "ตรวจสอบผลการจอง" ทางด้านขวามือ
  • กรอกข้อมูล - ใส่เลขบัตรประชาชน/ทะเบียนการค้า/หนังสือเดินทาง และเลขตัวถังรถที่ใช้จอง
  • ค้นหาและบันทึกผล - กด "ค้นหา" เพื่อแสดงผลการจอง และบันทึกหน้าจอไว้เป็นหลักฐาน
    • ควรบันทึกทั้งภาพหน้าจอและพิมพ์เอกสารเพื่อใช้ในขั้นตอนการจดทะเบียน

ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจองทะเบียนรถ

การจองทะเบียนรถออนไลน์ไม่มีค่าใช้จ่าย แต่จะมีค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องในขั้นตอนการจดทะเบียน ได้แก่

  • การสลับป้ายทะเบียนรถที่ได้จากการจอง - 500 บาท
  • การสลับป้ายทะเบียนรถประมูลที่ได้จากการจอง - 1,500 บาท
  • ค่าแผ่นป้ายทะเบียน - ป้ายละ 100 บาท
  • ค่าคำขออื่น ๆ - 75 บาท
  • ค่าตรวจสภาพรถยนต์ (กรณีรถใหม่) - 50 บาท
  • ค่าภาษีรถยนต์ประจำปี - อัตราแตกต่างกันตามประเภทและขนาดรถ

สิ่งสำคัญควรรู้ก่อนจองทะเบียนรถออนไลน์

1. ช่วงเวลาการจอง - ระบบจองหมายเลขทะเบียนรถยนต์จะเปิดให้จองตั้งแต่ 10.00 - 16.00 น. ตามวันที่กำหนดในตารางการจอง ซึ่งไม่สามารถเข้าจองหมายเลขนอกเวลาได้

2. การตรวจสอบข้อมูล - ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลทุกครั้งก่อนยืนยันการจอง โดยเฉพาะชื่อ-นามสกุล และเลขบัตรประจำตัวประชาชน หากไม่ตรงกับบัตรประชาชน จะถือว่าไม่ใช่บุคคลเดียวกันและไม่สามารถนำเลขไปจดทะเบียนได้

3. ระยะเวลาในการจดทะเบียน - เลขทะเบียนที่จองได้จะต้องนำรถมาจดทะเบียนภายใน 15 วันทำการนับจากวันที่ได้รับการยืนยันการจอง หากไม่ดำเนินการภายในกำหนด สิทธิ์จะถูกยกเลิกและเลขทะเบียนจะกลับไปอยู่ในระบบให้ผู้อื่นจองต่อไป

4. ข้อจำกัดการจอง - หลังจากจองเลขทะเบียนแล้ว หากต้องการจองอีกครั้ง ต้องรอ 3 เดือนนับจากวันที่จองครั้งล่าสุด ยกเว้นกรณีมีรถมากกว่า 1 คัน สามารถยื่นเอกสารเพิ่มเติมเพื่อขออนุมัติจองรถคันที่สองได้

5. ความเป็นเจ้าของ - เลขทะเบียนที่จองได้จะจดทะเบียนด้วยชื่อที่จองเท่านั้น ไม่สามารถยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงเป็นชื่อผู้อื่นได้ และรถที่นำมาจดทะเบียนต้องมีชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์หรือผู้ครอบครองเป็นชื่อเดียวกันกับผู้จอง

6. ข้อจำกัดทางเทคนิค - 1 IP address สามารถจองได้เพียง 1 ครั้งต่อวัน สามารถจองผ่านโทรศัพท์มือถือได้ แต่ต้องมีการยืนยันตัวตนผ่านแอป ThaID

7. การยกเลิกการจอง - ไม่สามารถยกเลิกการจองได้ หากต้องการเปลี่ยนเลขทะเบียนใหม่ ต้องรอ 3 เดือน และข้อมูลที่ผิดพลาดในการจองไม่สามารถแก้ไขได้

8. ตารางการจอง - ตรวจสอบตารางเปิดจองหมายเลขได้ที่ https://reserve.dlt.go.th/reserve โดยเลือก "ตารางเปิดจองหมายเลข" ซึ่งจะอัปเดตทุกสัปดาห์

ขั้นตอนต่อไปหลังจากจองทะเบียนรถออนไลน์

เมื่อจองทะเบียนรถออนไลน์สำเร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการนำรถไปจดทะเบียนที่สำนักงานขนส่ง โดยควรเตรียมเอกสารต่างๆ ให้พร้อม ดังนี้

สำหรับรถใหม่ (ป้ายแดง)

1. เอกสารที่ต้องเตรียม 

  • ใบจองเลขทะเบียนรถที่พิมพ์จากหน้าเว็บไซต์
  • หนังสือรับรองหลักฐานการส่งบัญชีรับและจำหน่ายรถ
  • หนังสือแจ้งจำหน่ายรถจากบริษัทผู้ผลิต
  • หลักฐานการได้รถ (ใบเสร็จรับเงิน, ใบกำกับภาษี, สัญญาเช่าซื้อ)
  • หลักฐานการทำ ประกันรถยนต์ (พ.ร.บ.)
  • สำเนาบัตรประชาชนผู้จอง
  • หนังสือมอบอำนาจพร้อมสำเนาบัตรประชาชนผู้รับมอบอำนาจ (กรณีไม่สามารถไปดำเนินการเอง)

2. ขั้นตอนที่กรมขนส่ง

  • ยื่นเอกสารและหลักฐานกับเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบเอกสาร
  • นำรถยนต์ไปตรวจสภาพ (ยกเว้นกรณีที่ตัวแทนจำหน่ายรถเป็นผู้จดทะเบียนให้)
  • ชำระค่าธรรมเนียมต่าง ๆ (ค่าจดทะเบียนรถใหม่ ค่าตรวจสภาพรถ ค่าแผ่นป้ายทะเบียน ค่าภาษีรถยนต์ประจำปี)
  • รับแผ่นป้ายทะเบียนรถ เครื่องหมายการเสียภาษีประจำปี และใบคู่มือจดทะเบียนรถ

สำหรับรถที่มีป้ายทะเบียนอยู่แล้ว

1. เตรียมเอกสาร

  • ใบคู่มือจดทะเบียนรถ (ตัวจริง)
  • สำเนาบัตรประชาชน
  • แบบคำขออื่นๆ
  • ใบจองเลขทะเบียนที่พิมพ์จากหน้าเว็บไซต์

2. ขั้นตอนที่กรมขนส่ง

  • รับบัตรคิวและยื่นเอกสาร
  • นำป้ายทะเบียนเก่ามายื่นคืน
  • ชำระค่าธรรมเนียม
  • รับป้ายทะเบียนใหม่

การจองทะเบียนรถออนไลน์ถือเป็นหนึ่งในบริการที่อำนวยความสะดวกแก่เจ้าของรถได้อย่างมาก นอกจากความรวดเร็วแล้วยังลดความแออัดที่กรมขนส่งทางบกอีกด้วย ช่วยให้เจ้าของรถได้เลขทะเบียนที่ถูกใจโดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง อย่างไรก็ตาม ควรปฏิบัติตามขั้นตอนและเงื่อนไขอย่างถูกต้อง เพื่อให้การจองสำเร็จลุล่วงด้วยดีและไม่เป็นโมฆะ

ทั้งนี้ หลังจากจองทะเบียนรถเรียบร้อยแล้ว อย่าลืมซื้อประกันรถยนต์เพื่อเพิ่มความคุ้มครองและความอุ่นใจในทุกการขับขี่ ไม่ว่าจะเป็นรถใหม่ป้ายแดง หรือรถมือสอง ซึ่ง Pocket by LMG นำเสนอแผนประกันรถยนต์ออนไลน์ที่หลากหลาย ทั้งประกันรถยนต์ชั้น 1, 2+ และ 3+ เรายินดีให้คำปรึกษาและแนะนำแผนประกันที่เหมาะสม เพื่อให้การใช้รถใช้ถนนเป็นไปอย่างอุ่นใจ สามารถดูแผนประกันรถยนต์ออนไลน์ พร้อมเปรียบเทียบประกันรถยนต์ และเช็คเบี้ยได้ง่ายๆ ที่ www.pocketbylmg.com/ หรือโทร. 02-302-7788 เพื่อปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ พร้อมรับแผนประกันที่ตอบโจทย์ในราคาที่คุ้มค่า

ปรึกษาพร้อมรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ เพียงฝากข้อมูลของคุณด้านล่าง